ปัจจัย&แนวโน้ม การเติบโตของอุตสาหกรรมพลาสติก

1498 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปัจจัย&แนวโน้ม การเติบโตของอุตสาหกรรมพลาสติก

หลังจากที่ความคึกคักในตลาดพลาสติกได้ชะลอตัวลงในปี พ.ศ. 2563 อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วงที่มีโรคระบาด ในปี พ.ศ. 2564 นี้ สถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทั่วโลกต่างได้รับบทเรียนและกำลังหาทางแก้ไขปัญหากันอย่างเต็มความสามารถ ทำให้แนวโน้มยอดขายผลิตภัณฑ์พลาสติกภายในประเทศและยอดการส่งออกอาจขยายตัวได้ถึงร้อยละ 2-3 เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าประเภทพลาสติก ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องวิเคราะห์และหาแนวทางรับมือให้ชัดเจน เพื่อความมั่นใจในการทำธุรกิจต่อไป

วัตถุดิบสำหรับการผลิตเม็ดพลาสติก
พลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการผลิตปิโตรเลียม โดยจากการกลั่นตัวของน้ำมันดิบและการแยกชั้นของก๊าซธรรมชาตินั่นเอง ดังนั้น น้ำมันดิบ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป และยังมีราคาผันผวนสูงตามกำลังการผลิตในแต่ละช่วง จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนในการผลิต

การปรับตัวของภาคแรงงาน
จากที่มีการปรับค่าแรงงานของนโยบายส่วนกลาง ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อซึ่งส่งผลต่อค่าจ้าง ทำให้โรงงานต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังทยอยฟื้นตัวและมีค่าใช้จ่ายในด้านอื่น ๆ

ความต้องการพลาสติกในตลาด
จากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปค่อนข้างมากในช่วงหลายปีมานี้ โดยเฉพาะในช่วงโควิด ทำให้บางธุรกิจต้องการใช้พลาสติกในการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น ยังไม่รวมการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ที่ส่งผลให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ นอกจากนี้ความต้องการของผู้บริโภคในการใช้งานบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกยังเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย  

กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและบรรจุภัณฑ์ “สีเขียว”
อีกหนึ่งความท้าทายที่ต้องเผชิญก็คือกระแสลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use Plastic) เพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และการหันมาใช้พลาสติกแบบ Biodegradable ซึ่งย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือแบบที่นำกลับมาหมุนเวียนใช้ได้หลายครั้ง นอกจากนี้ มาตรการในการห้ามหรือลดการใช้พลาสติกในประเทศต่าง ๆ ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อการส่งออก ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทันอีกด้วย

แนวโน้มที่เปลี่ยนไป: อุตสาหกรรมไหนต้องการพลาสติกเพิ่มขึ้น?
เพราะความนิยมในการบริโภคสินค้าของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามสภาพสังคมและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้แนวโน้มในการใช้พลาสติกมีความเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย สำหรับประเทศไทยแล้ว คาดการณ์ว่ายังจะมีความต้องการในใช้พลาสติกจำนวนมาก เพื่อต่อยอดการผลิตในธุรกิจเหล่านี้

เครื่องมือแพทย์ เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้า จึงต้องการพลาสติกมาใช้ในการผลิต ตลอดจนใช้ทำอุปกรณ์ป้องกัน อุปกรณ์ดูแลสุขภาพ และเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยและการขยายตัวของบริการทางการแพทย์
สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตและต้องการใช้บรรจุภัณฑ์จำนวนมาก ทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เครื่องสำอาง ซองขนมหรืออาหารสำเร็จรูป ไปจนถึงธุรกิจอาหารเดลิเวอรีหรือการสั่งกลับบ้านซึ่งต้องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก ทั้งกล่อง ถุง ไปจนถึงช้อนส้อม
ชิ้นส่วนยานยนต์ จากแนวโน้มความต้องการรถยนต์แบบ Eco Car ทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องให้กับโรงงานผลิตรถยนต์มากขึ้น
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างก็ได้รับการพัฒนาอยู่เสมอและเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก ทำให้ยอดขายเม็ดพลาสติกไปยังโรงงานเหล่านี้มีโอกาสขายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
การก่อสร้าง การขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้างของภาคเอกชนทำให้มีการใช้อุปกรณ์ก่อสร้างที่ทำจากพลาสติกเพิ่มขึ้น อีกทั้งปัจจุบันมีการพัฒนาวัสดุก่อสร้างชนิดใหม่ขึ้นมามากมายที่เน้นเรื่องความแข็งแรง เหนียว ทนทาน แต่มีน้ำหนักเบา ซึ่งพลาสติกก็เป็นหนึ่งในวัตถุดิบในการผลิตอุปกรณ์เหล่านั้น


cr.https://www.ptchronos.com/th/blog/plastic-pellet-market-2021-opportunities-challenges-and-adaptations

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้